ทำความเข้าใจการต่อแบตเตอรี่อนุกรม vs ขนาน ต่างกันอย่างไร

บทความ

เรียนรู้การต่อแบตเตอรี่ อนุกรม vs ขนาน เลือกอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน

การต่อแบตเตอรี่ในระบบพลังงานสำรอง เป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับระบบพลังงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น UPS  (Uninterruptible Power Supply) หรือระบบไฟฟ้าสำหรับลิฟต์ในคอนโด ที่มักต้องการแบตเตอรี่ที่สามารถจ่ายพลังงานได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากแบตเตอรี่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ หรือเมื่อระบบกำลังหลักไม่สามารถจ่ายไฟได้อย่างเพียงพอ เพื่อทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลสำคัญของคุณ ซึ่งการต่อแบตเตอรี่มีด้วยกัน 2 วิธีการ คือ การต่อแบบอนุกรม และการต่อแบบขนาน ซึ่งทั้ง 2 แบบมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน 

บทความนี้จะพาคุณเรียนรู้วิธีการต่อแบตเตอรี่ด้วยตัวเอง พร้อมคำแนะนำในการเลือกใช้แบตเตอรี่ อนุกรม ขนาน ให้ตรงตามความต้องการ

Image by brgfx on Freepik

แบตเตอรี่อนุกรม คืออะไร

แบตเตอรี่อนุกรม คือ การเชื่อมต่อแบตเตอรี่หลาย ๆ ก้อนเข้าด้วยกัน โดยต่อขั้วบวกของแบตเตอรี่ลูกหนึ่งให้เข้ากับขั้วลบของแบตเตอรี่อีกลูกหนึ่ง ซึ่งการต่อแบบนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้เพิ่มแรงดันไฟฟ้า(Voltage) รวมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความจุ (Ah) ของแบตเตอรี่ยังคงเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่มักใช้วิธีต่อแบตเตอรี่แบบอนุกรมเพื่อเพิ่มแรงดันไฟ้า

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น ให้คิดว่าแบตเตอรี่แต่ละก้อนเป็นเหมือนเซลล์ไฟฟ้า เมื่อเรานำเซลล์เหล่านั้นมาต่อกันเป็นสายยาว แรงดันไฟฟ้าก็จะเหมือนกับการเพิ่มระดับน้ำในท่อ ยิ่งต่อเซลล์มากระดับน้ำก็จะสูงขึ้น ทำให้แรงดันไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่าง การต่อแบตเตอรี่แบบอนุกรม

ตัวอย่างการต่อแบตเตอรี่แบบอนุกรม ให้คุณนึกภาพว่าหากคุณมีแบตเตอรี่ขนาด 6V 12Ah จำนวน 4 ลูก และเชื่อมต่อแบบอนุกรม คุณก็จะได้แบตเตอรี่ชุดใหม่ที่มีแรงดันรวม 24V (6V x 4) แต่ความจุยังคงเป็น 12Ah

ประโยชน์ของการต่อแบบอนุกรม

ประโยชน์ของการต่อแบตเตอรี่อนุกรมจะขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานให้เหมาะสม โดยเน้นการใช้แรงดันไฟฟ้าจำนวนมาก 

  1. สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องการแรงดันไฟฟ้าสูง เช่น ระบบไฟฟ้าแรงสูงในโรงงานอุตสาหกรรม 
  2. เหมาะสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิดที่ต้องการแรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติ 
  3. ใช้ในระบบที่ต้องการแรงดันไฟมากกว่าแบตเตอรี่ลูกเดียวสามารถจ่ายได้ เป็นการสร้างแบตเตอรี่ที่มีแรงดันไฟฟ้าได้ตามต้องการ โดยเราสามารถเลือกจำนวนแบตเตอรี่และชนิดของแบตเตอรี่มาต่อกันให้ได้แรงไฟฟ้าที่ต้องการได้

แบตเตอรี่ขนาน คืออะไร

แบตเตอรี่ขนาน คือ การเชื่อมต่อต่อแบตเตอรี่หลาย ๆ ก้อนเข้าด้วยกัน โดยต่อขั้วบวกของแบตเตอรี่แต่ละก้อนเข้าด้วยกัน และเชื่อมขั้วลบขอแบตเตอรี่ทุกก้อนเข้าด้วยกันอีกด้านหนึ่ง ซึ่งการต่อแบบนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยเพิ่มความจุ(Ah) ในขณะที่แรงดันไฟฟ้า (Voltage) จะยังคงเท่าเดิม

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้น ให้คิดว่าแบตเตอรี่แต่ละก้อนนั้นเป็นเหมือนถังน้ำ เมื่อเรานำถังน้ำหลาย ๆ ใบมาต่อท่อเชื่อมกัน น้ำในถังทั้งหมดก็จะรวมกันเป็นปริมาณน้ำที่มีมากขึ้น แม้ว่าระดับน้ำในถังแต่ละถังจะยังคงเท่าเดิมก็ตาม

ตัวอย่าง การต่อแบตเตอรี่แบบขนาน

ตัวอย่างการต่อแบตเตอรี่แบบขนาน ให้คุณลองนึกภาพว่า หากคุณมีแบตเตอรี่ขนาด 6V 12Ah จำนวนทั้งหมด 4 ลูก และทำการเชื่อมต่อแบตเตอรี่แบบขนาน คุณก็จะได้แบตเตอรี่ชุดใหม่ที่มีความจุรวม 48Ah (12Ah x 4) แต่แรงดันไฟฟ้ายังคงเป็น 6V เท่าเดิมกับแบตเตอรี่ 1 ก้อน

ประโยชน์ของการต่อแบบขนาน

ประโยชน์ของการต่อแบตเตอรี่ขนานเหมาะสำหรับการใช้งานที่เน้นความยาวนาน และมีความเสถียร

  • การเพิ่มความจุของแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้งานได้นานขึ้น เช่น ระบบสำรองไฟสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า
  • การเพิ่มความเสถียร เนื่องจากการต่อแบตเตอรี่หลาย ๆ ก้อนจะช่วยกระจายกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้แบตเตอรี่แต่ละก้อนทำงานเบาลง และเพิ่มอายุการใช้งานได้
  • เหมาะสำหรับระบบที่ต้องการพลังงานยาวนาน เช่น ระบบไฟสำรองในอาคารหรือลิฟต์

การเลือกการต่อแบตเตอรี่ให้เหมาะกับการใช้งาน

การเลือกวิธีการต่อแบตเตอรี่ให้เหมาะกับการใช้งาน อันดับแรกต้องคำนึงก่อนว่าการใช้งานของคุณมีลักษณะอย่างไร เพราะข้อดีข้อเสียของแบตเตอรี่อนุกรมและขนานแตกต่างกัน และเหมาะกับการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้สามารถเลือกการต่อแบตเตอรี่ได้อย่างเหมาะสม

เมื่อไรควรเลือกต่อแบบอนุกรม

ควรเลือกต่อแบตเตอรี่แบบอนุกรม เมื่อต้องการรวมพลังเพิ่มแรงดันไฟฟ้าของระบบ โดยที่ความจุของแบตเตอรี่ยังคงเท่าเดิม โดยสถาณการณ์ที่เหมาะสำหรับการต่อแบบอนุกรม มีดังนี้

  • ต้องการแรงดันไฟฟ้าสูง เช่น UPS, ระบบไฟฟ้าแรงสูงในโรงงานอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการแรงดันไฟฟ้าสูงจำพวกเครื่องขยายเสียง, และรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่น
  • ต้องการสร้างแหล่งจ่ายไฟสำรองที่มีแรงดันไฟฟ้าสูง เช่น ระบบสำรองไฟสำหรับอุปกรณ์สำคัญในบ้านหรือสำนักงาน
  • ต้องการใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุจำกัด แต่ต้องการแรงดันไฟฟ้าที่สูงขึ้น เช่น การใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กหลายก้อนมาต่อกันเพื่อให้ได้แรงดันไฟฟ้าที่ต้องการ

เมื่อไรควรเลือกต่อแบบขนาน

ควรเลือกต่อแบบขนาน เมื่อต้องการเพิ่มพลังงานให้ยาวนานยิ่งขึ้น หรือเพิ่มความจุของแบตเตอรี่โดยที่แรงดันไฟฟ้ายังคงเท่าเดิม ซึ่งหมายถึงแบตเตอรี่ของเราจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้นานขึ้น หรือสามารถขับเคลื่อนอุปกรณ์ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงได้นานยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์ที่เหมาะสมกับการต่อแบบขนาน เช่น

  • ต้องการเพิ่มเวลาในการใช้งาน เช่น ระบบสำรองไฟสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์พกพาที่ต้องการใช้งานได้นานขึ้น เช่น ไฟฉาย พาวเวอร์แบงค์
  • ต้องการเพิ่มความเสถียรของระบบ โดยการต่อแบตเตอรี่หลาย ๆ ก้อนแบบขนาน จะช่วยกระจายภาระในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ทำให้แบตเตอรี่แต่ละก้อนทำงานเบาลง และเพิ่มอายุการใช้งาน
  • ต้องการเพิ่มกำลังไฟฟ้าให้กับระบบ หากอุปกรณ์ที่เราใช้งานต้องการกระแสไฟฟ้าสูง การต่อแบตเตอรี่แบบขนานจะช่วยให้เราได้กระแสไฟฟ้าที่มากขึ้นได้

ข้อควรระวังในการต่อแบตเตอรี่

ข้อควรระวังในการต่อแบตเตอรี่ นอกจากจะต้องรู้ก่อนว่า แบตเตอรี่อนุกรม คืออะไร ต่างจากแบตเตอรี่ขนานอย่างไร หรือข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ต้องรู้ถึงข้อควรระวังในการเชื่อมต่อแบตเตอรี่ด้วย เพื่อป้องกันอัตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

1. ตรวจสอบความสม่ำเสมอของแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ที่นำมาต่อกันควรมีแรงดันไฟฟ้าและความจุเท่ากัน เพื่อป้องกันความเสียหาย หากใช้แบตเตอรี่ที่แตกต่างกัน อาจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพไม่เท่ากัน

2. ใช้อุปกรณ์และสายไฟที่เหมาะสม

ควรเลือกสายไฟที่รองรับกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ และการเชื่อมต่อควรแน่นหนา

3. ระวังการต่อผิดขั้ว

ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนต่อแบตเตอรี่ เพราะการต่อผิดขั้วอาจทำให้แบตเตอรี่เสียหายหรือเกิดความร้อนสูงจนเป็นอันตรายได้

4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

การต่อแบตเตอรี่ไม่ว่าจะเป็นแบบอนุกรม หรือขนานสามารถทำด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากไม่มั่นใจ ควรขอคำแนะนำจากช่างไฟหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการต่อที่ถูกวิธีและมีความปลอดภัย

สรุป

การต่อแบตเตอรี่แบบอนุกรมและแบบขนานมีข้อดีและการใช้งานที่แตกต่างกัน การต่อแบบอนุกรมเหมาะกับการเพิ่มแรงดันไฟฟ้า โดยที่ความจุเท่าเดิม ในขณะที่การต่อแบบขนานเหมาะสำหรับเพิ่มความจุ แต่ให้แรงดันไฟฟ้าเท่าเดิม เพื่อให้ระบบพลังงานของคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเลือกวิธีการต่อให้เหมาะสมกับความต้องการ และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย  

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ช่างไฟ หรือผู้ดูแลระบบพลังงาน การเข้าใจวิธีต่อแบตเตอรี่ทั้ง 2 แบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และทำให้แบตเตอรี่ของคุณใช้งานได้ยาวนานขึ้น!

แชร์บทความ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่

Line@: @Engitechpower (https://lin.ee/v8aOkHB)
E-mail: info.engitechpp@gmail.com
TEL: 090-960-3815